วันจันทร์ที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2555

วัดมหาธาตุ พระนครศรีอยุธยา

วัดมหาธาตุ พระนครศรีอยุธยา
3 มกราคม 2555






ธรรมชาติรังสรรค์ เศียรพระพุทธรูปหินทรายในต้นไม้ที่โด่งดังไปทั่วโลก






บริเวณทางเข้าชมวัดมหาธาตุ อยุธยา

                   วัดมหาธาตุ เป็นวัดโบราณตั้งอยู่ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เป็นวัดที่มีความสำคัญในสมัยอยุธยาเพราะเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ และ เป็นที่พำนักของ สมเด็จพระอริยวงศาสังฆราชาธิบดี เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายคามวาสี   พระมหาเถรคันฉ่อง พระอาจารย์ของสมเด็จพระนเรศวร และสมเด็จพระสังฆราชหลายๆ พระองค์ในสมัยนั้น นอกจากนี้ก่อนเสียกรุง ยังเป็นที่เก็บพระศพของสมเด็จพระสังฆราชถึงสองพระองค์ ซึ่งไม่สามารถทำพิธีพระศพได้เนื่องจากอยู่ระหว่างศึกประชิดเมือง
                            จากหนังสือพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐฯ และ ฉบับพันจันทนุมาศ(เจิม) ฉบับพระราชหัตถเลขา บันทึกไว้ว่า วัดมหาธาตุนี้ สร้างในรัชสมัยขุนหลวงพะงั่ว(รัชกาลที่ 3 แห่งกรุงศรีอยุธยา) ปี พ.ศ.1917 และสร้างเสร็จสมบูรณ์ในรัชสมัยพระราเมศวร(รัชกาลที่ 2 - 5 แห่งกรุงศรีอยุธยา-ครองราชย์สองวาระ)
                           จุดสนใจของนักท่องเที่ยวที่ไปเยือนวัดมหาธาตุ คือ เศียรพระพุทธรูปในต้นไม้ หน้าวิหารเล็ก ที่ธรรมชาติรังสรรค์ไว้อย่างงดงามลงตัว


                             
                             สันนิษฐานว่า เศียรพระพุทธรูปหินทรายองค์นี้ คงถูกตัดหรือหักพังคราวเสียกรุง เมื่อ พ.ศ.2310 แล้วหล่นลงมาที่โคนต้นไม้ หรือ ถูกนำมาวางไว้ จนกาลเวลาผ่านไปรากไม้จึงห่อหุ้มเศียรพระพุทธรูปดังที่เห็น 
                               วัดมหาธาตุเองก็ถูกเผาทำลายและถูกทิ้งร้างมาตั้งแต่เสียกรุงคราวนั้น และถูกลักลอบขุดค้นหาสมบัติตลอดมา ต่อมา การเสาะหาสะสมพระเครื่องเป็นที่นิยม โบราณสถานในวัดมหาธาตุจึงถูกลักลอบขุดค้นทำลายเสียหายมากมาย โดยมีนักขุดพระตัวฉกาจชื่อ นายพร้อม เล่ากันว่า นายพร้อมมีลายแทงกรุสมบัติตามโบราณสถานในกรุงศรีอยุธยาหลายแห่ง จึงทำลายขุดค้นแล้วนำมาขายให้เจ็กยี่  สุดท้ายนายพร้อมก็หนีกรรมเวรไม่พ้น ถูกกำแพงที่วัดมหาธาตุพังทับเสียชีวิตในปี พ.ศ.2499


กำแพงวัดมหาธาตุ อยุธยา



                                พระเครื่องกรุวัดมหาธาตุ หรือ กรุพะงั่ว ที่นิยมเสาะหากันในวงการพระเครื่องได้แก่ พระนาคปรก พระอู่ทองคางเครา พระปรุหนัง  พระอู่ทองพิมพ์ต่างๆ  โดยพระเครื่องชุดนี้สันนิษฐานว่าสร้างเมื่อ พ.ศ.1917 ในรัชสมัย พระบรมราชาธิราชที่ 1 (ขุนหลวงพะงั่ว) กษัตริย์รัชกาลที่ 3 แห่งกรุงศรีอยุธยา(ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.1913 - พ.ศ.1931 รวม 18 ปี) 


พระนาคปรกกรุพะงั่ว วัดมหาธาตุอยุธยา
ที่มา ; เว็บร้านกรุงเก่าพระเครื่อง http://www.thaprachan.com/shop_detail.php?shop_id=168&product_id=345070&c=1

พระปรุหนังกรุพะงั่ว วัดมหาธาตุอยุธยา



พระอู่ทอง กรุวัดมหาธาตุ อยุธยา


                            ความสำคัญของวัดมหาธาตุเกี่ยวกับวงการพระเครื่องอีกเรื่องที่ควรทราบ คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ รัชกาลปัจจุบันได้นำมวลสารจากโบราณสถานแห่งนี้เป็นส่วนประกอบในการสร้าง "พระสมเด็จจิตรลดา" ด้วย


พระสมเด็จจิตรลดา
ที่มา . เว็บท่าพระจันทร์ http://www.thaprachan.com/shop_detail.php?shop_id=2112&product_id=355637&c=1

                            พ.ศ.2499 จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้สั่งให้กรมศิลปากรเข้ามาบูรณะขุดแต่งวัดมหาธาตุ การลักลอบขุดหาสมบัติและพระเครื่องจึงยุติลง
                            การบูรณะขุดค้นโดยกรมศิลปากร ขุดพบภาชนะทองคำจำนวนมาก และยังพบผอบบรรจุพระบรมสารีริกธาตุอยู่ในซากปรักหักพังของพระปรางค์องค์ใหญ่
                           ผอบองค์นี้ขนาดใหญ่มาก กว้างประมาณ 30 ซ.ม. สูงราว 1 เมตร  เมื่อคณะกรรมการขุดค้น เปิดออกพบทองคำรูปพรรณต่างๆ บรรจุอยู่จนพูน ด้านในมีผอบขนาดลดหลั่นกันไปซ้อนกันอยู่ 7 ชั้น ชั้นในสุดเป็นตลับทองคำ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานอยู่ในน้ำมันจันทน์
                          บริเวณโดยรอบที่พบผอบ บรรจุพระพุทธรูปปางต่างๆมากมาย มีทั้งเนื้อสำริด เนื้อชิน และแผ่นทองคำปั้มนูน แผ่นทองคำบางองค์สูงถึง 48 ซ,ม,
                          ที่พระปรางค์องค์เล็ก โดยรอบกำแพงแก้วทั้งสี่มุม ก็ขุดพบผอบบรรจุพระธาตุของพระสาวกตลอดจน ภาชนะทองคำ และพระพุทธรูปอีกมากมาย  หนังสือพิมพ์ได้ลงข่าวต่อเนื่องกันหลายวัน จึงเป็นที่เลื่องลือว่าวัดต่างๆในอยุธยามีกรุสมบัติอีกมากมาย จึงเกิดการลักลอบขุดค้นโบราณสถานเป็นวงกว้างอีกครั้ง ในปี พ.ศ.2500    ทำให้กรมศิลปากรต้องเร่งขุดค้นเพื่อนำสมบัติของชาติมาเก็บรักษาไว้มิให้สูญหายไป
                           นอกจากนี้ยังขุดคันพบ จารึกลานเงิน และ จารึกลานดีบุก ซึ่งข้อความระบุถึงการสร้างพระเครื่องเพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนา และขอให้ผู้สร้างไปเกิดในสวรรค์ หรือ ตระกูลที่ดี ด้วย


จารึกแผ่นเงิน

จารึกแผ่นดีบุก






พระปรางค์องค์ใหญ่วัดมหาธาตุอยุธยา


พระปรางค์องค์ใหญ่วัดมหาธาตุอยุธยา
                            เป็นโบราณสถานสำคัญของวัดมหาธาตุ ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตก สันนิษฐานว่าสร้างระหว่างรัชสมัยขุนหลวงพะงั่ว ต่อเนื่อง พระราเมศวรหรือ  ราว 600 ปี มาแล้ว เป็นสถานที่ขุดค้นพบกรุสมบัติ อาทิ ผอบบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระทองคำ และสิ่งมีค่าอื่นๆ อีกจำนวนมาก 
                            ลักษณะที่ปรากฎในปัจจุบัน พระปรางค์องค์ใหญ่ยอดหักพังเหลือแต่ฐานประดิษฐานอยู่ตรงกลาง ล้อมรอบด้วยกำแพงคต แต่ละมุมมีพระปรางค์องค์เล็กประดิษฐานอยู่ที้งสี่มุน  มีคำบรรยายถึงลักษณะพระปรางค์องค์ใหญ่ก่อนพังทลายไว้ว่า...
                            " มียอดนพศูลหุ้มทองสูง 6 เมตร มีบันไดขึ้นไปถึงซุ้มองค์พระฐาน พนักบันไดทั้งสองข้างปั้นเป็นนาคราชตัวโตเท่าลำตาลเลื้อยลงมา ศรีษะแผ่พานที่เชิงบันได ตรงชั้นบัลลังก์ทั้งสี่มุมมีรูปปั้นประดับ.... มีคตรอบพระปรางค์ ภายในคตตั้งพระพุทธรูปศิลาเรียงราย"


พระพุทธรูปหินทราย(ศิลา)ประดิษฐานด้านทิศตะวันตกของพระปรางค์
                              
                             นอกจากนี้ยังมีจดหมายเหตุของราชฑูตลังกาซึ่่งเดินทางมากรุงศรีอยุธยาในรัชสมัย พระเจ้าบรมโกศ บันทึกไว้ว่า
                              " มีรูปปั้นสัตว์ ได้แก่ ราชสีห์ หมี หงษ์ นกยูง กินนร มังกร ฯลฯ เรียบรายรอบพระปรางค์ "
ภาพวัดมหาธาตุถ่ายไว้เมื่อคราว ร.5 เสด็จพระราชวังหลวง ปรากฎพระปรางค์องค์ใหญ่ยังอยู่ครบถ้วนสมบูรณ์
       
                               พระปรางค์องค์ใหญ่ได้พังทลายและบูรณะมาหลายครั้ง
พ.ศ.2176   บูรณครั้งที่ 1     ในรัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง
พ.ศ.2271 - 2301 บูรณะครั้งที่ 2   ในรัชสมัยพระเจ้าบรมโกศ
พ.ศ.2310   ขณะทัพพม่าล้อมกรุงอยู่ได้เกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ ก่อนเสียกรุงในปีเดียวกัน
พ.ศ. 2450   พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5)เสด็จพระราชพิธีที่วังหลวง กรุงศรีอยุธยา มีภาพถ่ายปรากฎพระปรางค์องค์ใหญ่ยังอยู่ปกติดี
พ.ศ. 2447    ในสมัย รัชกาลที่ 5 ได้พังทลายอีกคราว คงเหลือเท่าที่เห็นในปัจจุบัน ดังปรากฎหลักฐานในหอจดหมายเหตุแห่งชาติเรื่อง "พระปรางค์วัดมหาธาตุกรุงเท่าหักพัง" (เอกสารกระทรวงศึกษาธิการ รัชกาลที่ 5 ร.ถ ศ.5/20) ระบุว่า "พระปรางค์องค์นี้ทลายลงมาในเวลาห้าโมงเช้า ของวันที่ 25 พฤษภาคม ร.ศ.123 (พ.ศ.2447) และคงถูกทิ้งไว้ในสภาพเช่นนั้นมาจนบัดนี้" 
**** หลักฐานในส่วนนี้น่าจะมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดพลาด ระหว่าง ปี พ.ศ.2450 ที่ระบุว่าเป็นที่ที่ถ่ายภาพพระปรางค์ยังมีสภาพสมบูรณ์ และหลักฐาน ปี ร.ศ.123(พ.ศ.2447) ที่ระบุว่าเป็นปีที่พระปรางค์ทลายลงมา แต่ส่วนใหญ่เชื่อว่าหลักฐานตามภาพถ่ายถูกต้องและเชื่อว่าพระปรางค์ทลายลงหลังปี พ.ศ.2450 ในรัชกาลที่ 6 **** 


พระปรางค์องค์ใหญ่ วัดมหาธาตุอยุธยา

1 ความคิดเห็น:

  1. ขออนุญาตนำภาพวัดมหาธาตุไปใช้เผยแพร่ความรู้เชิงพาณิชย์ เขียนหนังสือสถาปัตยกรรมส่งโรงพิมพ์ นะครับ จะอนุญาตได้ไหมครับ
    ผศ. เฉลิมชัย เงารังษี lext99@hotmail.com

    ตอบลบ