วันเสาร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2554

พระเจ้าติโลกราช กษัตริย์ผู้พิชิตของเมืองเชียงใหม่


พระสถูปเจดีย์พระเจ้าติโลกราช ณ วัดเจ็ดยอด เชียงใหม่


พระเจ้าติโลกราช กษัตริย์ผู้พิชิตของเมืองเชียงใหม่ ผู้ได้รับพระราชทานนามจากจักรพรรดิเมืองจีนว่า “ราชาแห่งตะวันตกแห่งราชวงศ์หมิง”
พระเจ้าติโลกราช กษัตริย์เชียงใหม่พระองค์เดียวที่ยกทัพลงมาตีถึงเมืองพิษณุโลกจนกษัตริย์อยุธยาต้องเสด็จหนีกลางดึก  ยกทัพไปรบทั่วทุกทิศ ทั้งในลาว พม่า เวียดนาม และจีน จนได้รับการสถาปนาจากจักรพรรดิราชวงศ์หมิง ให้เป็น ราชาแห่งตะวันตก เป็นใหญ่รองจากจักรพรรดิเมืองจีน
พระเจ้าติโลกราช เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสามฝั่งแกน กษัตริย์เมืองเชียงใหม่ ประสูติเมื่อ พ.ศ.1952 เดิมชื่อ”ท้าวลก” เมื่อเติบใหญ่พระราชบิดาโปรดให้เสด็จไปครองเมืองเล็กๆ กลางหุบเขาขึ้นไปทางตอนเหนือของเมืองเชียงใหม่ ราว 100 กม. ชื่อเมืองพร้าว หรือ อำเภอพร้าวในปัจจุบัน ต่อมาเกิดสงคราม ทัพของพระองค์ยกไปช่วยทัพของพระราชบิดาไม่ทัน จึงต้องพระราชอาญาเนรเทศไปครองเมืองยวมใต้ หรือ อำเภอแม่สะเรียง ในปัจจุบัน
ต่อมา “สามเด็กย้อย” อำมาตย์ของเมืองเชียงใหม่คิดกบฏแต่ไม่สามารถก่อการโดยลำพังได้ จึงคิดอาศัยเชื้อพระวงศ์ โดยอัญเชิญ ท้าวลก มาซ่อนตัวในเมืองเชียงใหม่ เป็นข้ออ้างเกลี้ยกล่อมผู้คนให้มาเข้าเป็นพวก ซ่องสุมกำลังรอเวลาอันควร
จวบจน พระเจ้าสามฝั่งแกน เสด็จไปประทับพักผ่อน ณ เวียงเจ็ดลิน เชิงดอยสุเทพ ซึ่งตั้งอยู่ในสวนสัตว์เชียงใหม่ในปัจจุบัน “สามเด็กย้อย” จึงนำกำลังเข้าเผาเวียงเจ็ดลิน และยึดเมืองเชียงใหม่และอัญเชิญ ท้าวลก ขึ้นเสวยราชสมบัติโดยหมายกุมอำนาจอยู่หลังราชบัลลังก์  โดยสถาปนา เป็น “พระเจ้าติโลกราช” กษัตริย์องค์ที่ 9 ของราชวงศ์มังราย เชียงใหม่ ขณะมีพระชนมายุ 32 พรรษา ส่วนพระราชบิดาโปรดให้ไปประทับ ณ เมืองสาด ประเทศพม่าในปัจจุบัน
แต่การไม่เป็นไปตาม “สามเด็กย้อย” คาดไว้ ไม่สามารถกุมอำนาจไว้กับตนเองได้ หลังจากนั้นอีก หนึ่งเดือนเศษ “สามเด็กย้อย” จึงก่อการกบฏเข้ายึดอำนาจ พระเจ้าติโลกราช แต่กระทำการไม่สำเร็จ พระเจ้าติโลกราชจึงโปรดให้ “หมื่นโลกนคร” พระเจ้าอาซึ่งครองเมืองลำปางนำตัวไปคุมขังไว้ เมื่อพ้นโทษจึงโปรดให้ไปครองเมืองเชียงแสน หรือ อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงรายในปัจจุบัน
หลังจากนั้นพระเจ้าติโลกราช ทรงโปรดให้ยกทัพไปปราบเจ้าเมืองฝาง (อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ในปัจจุบัน) แต่เจ้าเมืองฝางหลบหนีไปพึ่งเจ้าเมืองเทิง (อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย ในปัจจุบัน) พระองค์จึงยกทัพตามไปจับตัวเจ้าเมืองฝางประหารต่อหน้าพระพักตร์เจ้าเมืองเทิง เป็นเหตุให้เจ้าเมืองเทิง ไม่พอพระทัย จึงส่งพระราชสาสน์ไปยังเจ้าสามพระยา อยุธยา เร่งให้มาเอาเมืองเชียงใหม่ โดยอ้างว่าในเมืองเชียงใหม่เพิ่งสถาปนากษัตริย์พระองค์ใหม่ หัวเมืองต่างๆ ไม่ยอมอ่อนน้อมเกิดการจลาจลไปทั่ว จึงให้อยุธยายกทัพมาเอาเมืองเชียงใหม่เสียเถิด
พ.ศ.1985 เจ้าสามพระยา แห่งกรุงศรีอยุธยา จัดทัพอยุธยา ฝ่าดงแดนดอยมาล้อมเมืองเชียงใหม่ แต่ถูกกลศึกของพระเจ้าติโลกราชจนแตกพ่ายไป เจ้าเมืองเทิงจึงถูกจับตัดคอใส่แพหยวกกล้วย ลอยแม่น้ำปิง เป็นนัยว่าให้ล่องตามสายน้ำไปถึงเมืองอยุธยา
หลังจากนั้นก็มีราชสงครามโดยตลอด อาทิ ยกทัพไปปราบเมืองน่าน ยกทัพขับไล่ทัพเมืองหลวงพระบางที่มาตีเมืองน่าน ยกทัพไปปราบเมืองยองไทลื้อในประเทศพม่า ยกทัพไปปราบเมืองหลวงพระบาง – เมืองขรองหลวง – เมืองขรองน้อย ประเทศลาว ยกทัพไปปราบเมืองเชียงรุ่ง 12 ปันนา ประเทศจีน เมืองลอง เมืองตุ่น เมืองแช่ เมืองอิง เมืองนาย ไลค่า ล๊อกจ๊อก เชียงทอง เมืองปั่น หนองบอน ยองห้วย เมืองสู่ เมืองจีด เมืองจาง เมืองกิง จำคา เมืองพุย สีป้อ กวาดต้อนเชลยมาเป็นจำนวนมาก
ยกทัพไปตีเมืองหาง ประเทศพม่าในปัจจุบัน ระหว่างศึกทัพเวียดนาม ไพร่พล 40 หมื่น ตีหลวงพระบางแตก และเตรียมทัพเข้าตีเมืองน่าน จึงโปรดให้ยกทัพกลับมาช่วยเมืองน่าน และ เอาชนะทัพของเวียดนามได้
ทั้งนี้ ก่อนหน้านั้นทัพจักรพรรดิจีนเพิ่งรบแพ้ทัพเวียดนาม พระองค์จึงโปรดให้ตัดหัวแม่ทัพเวียดนามและคุมเชลยศึกเป็นจำนวนมาก จัดให้ราชฑูตนำไปถวายเป็นบรรณาการแก่จักรพรรดิจีน นัยว่าได้ช่วยแก้แค้นให้แล้ว ซึ่งในตอนแรกจักรพรรดิจีนไม่เชื่อว่ากองทัพเชียงใหม่อันน้อยนิดจะชนะทัพมหาศาลของจักรพรรดิแห่งเวียดนามได้ จึงโปรดให้สอบสวนจนทราบว่าเป็นความจริง จักรพรรดิจีน จึงโปรดให้
 " ท้าวล้านนาพระเจ้าติโลกราช มีเดชานุภาพทัดเทียมจักรพรรดิ และโปรดให้เป็น "ราชาผู้พิชิตแห่งทิศตะวันตก” ให้เป็นใหญ่รองจากพระมหาจักรพรรดิแห่งราชวงศ์หมิง มีอำนาจที่จะปราบปรามกษัตริย์น้อยใหญ่ที่ก่อการแข็งเมืองทุกประการ"  
พร้อมกับทรงส่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์และเครื่องประกอบเกียรติยศ กองทหารพร้อมเสนาบดีผู้ใหญ่ เดินทางมาประกอบพิธีที่เชียงใหม่อย่างยิ่งใหญ่อลังการ
หลังจากนั้น โปรดให้ยกทัพไปปราบเมืองชากังราว กำแพงเพชร เมืองชัยนาท เมืองสุโขทัย หลังจากนั้นเจ้าเมืองพิษณุโลกได้เข้ามาสวามิภักดิ์นำทหารกว่าหมื่นนายเข้าประจำในทัพเมืองเชียงใหม่
หลังจากนั้นพระบรมไตรโลกนารถ เห็นว่าศึกทางเหนือ คือ  เมืองเชียงใหม่เป็นที่น่าหนักพระทัยยิ่งนัก จึงย้ายราชธานีมาตั้งรับที่เมืองพิษณุโลก พระเจ้าติโลกราช จึงยกทัพไปล้อมเมืองพิณุโลก พระบรมไตรโลกนาถ กษัตริย์อยุธยา ต้องหลบหนีออกจากเมืองพิษณุโลกเวลาเที่ยงคืน ทางลำน้ำน่านกลับอยุธยา
เมืองพระเจ้าติโลกราชทรงทราบเรื่อง ก็พระพิโรธ รับสั่ง ให้"ควักลูกตา "ทหารทุกนายที่ซุ่มล้อม ณ พื้นที่ลำน้ำน่าน "หมื่นด้งนคร" แม่ทัพใหญ่ ต้องกราบบังคลทูลถวายรายงานว่า พระบรมไตรโลกนาถ ใช้ "กลศึก" ตีสัญญาณฆ้องกลอง ล่องเรือหนีมาตามลำน้ำน่านโดยให้จังหวะเคาะสัญญาณ เลียนแบบสัญญาณ ของ กษัตริย์เมืองเชียงใหม่ ทุกประการ ประกอบกับเดือนมืด มองเห็นไม่ถนัด ทหารที่ซุ่มเฝ้าระวัง จึงไม่เฉลียวใจ ต่างคิดว่า เป็นเรือพระที่นั่งของพระเจ้าติโลกราช เสด็จ จึงไม่ยับยั้ง และข้าในฐานะแม่ทัพ ขอรับโทษแทนทหารชั้นผู้น้อยทั้งหมด หากจะควักลูกตาทหารผู้น้อย ก็ขอให้ควักลูกตาของข้าแต่เพียงผู้เดียว พระเจ้าติโลกราช จึงยอมพระราชทานอภัยโทษ
ต่อมาทรงใช้กลศึก ใช้สายลับอยุธยาที่ถูกจับได้ ให้ไปรายงานว่าเห็นกองทัพเชียงใหม่จะยกทัพไปทำศึกทางเหนือ จึงแจ้งให้อยุธยายกทัพมาชิงเอาเชียงใหม่ และทรงจัดทัพซุ่มโจมตีที่ดอยขุนตาล ตีกองทัพอยุธยาจนแตกพ่าย และไล่ติดตามตลอดทั้งคืนผ่านห้างฉัตร ลำปาง เด่นชัย จนถึงเขาพลึง (เขตระหว่าง แพร่กับอุตรดิตถ์) จึงเกิดการปะทะกัน เป็นเหตุให้พระอินทราชา พระราชโอรสในพระบรมไตรโลกนาถต้องปืนสิ้นพระชนม์
ต่อมาทรงโปรดให้ยกทัพไปตีเมืองพง ไทลื้อ ในมณฑลยูนาน ประเทศจีน ทางกรุงศรีอยุธยา จึงยกทัพมาตีเมืองแพร่ หัวเมืองของเชียงใหม่ หมื่นด้งนคร ผู้รักษาเมืองเชียงใหม่ จึงยกทัพไปช่วยเมืองแพร่ป้องกันเมือง ครั้นทัพพระเจ้าติโลกรา ตีเมืองพงได้แล้ว จึงยกทัพกลับมาช่วยเมืองแพร่ พระบรมไตรโลกนาถ ทราบข่าวจึงให้ยกทัพกลับ ทัพชียงใหม่ตามตีไม่ทัน จึงเข้าตีเมืองพิษณุโลก ตีเมืองปาง
เห็นว่าได้ว่า พระเจ้าบรมไตรโลกนารถ ทรงครั้นคร้ามหลีกเลี่ยงที่จะปะทะกับ ทัพพระเจ้าติโลกราช เป็นอย่างยิ่ง โดยทรงถอยทัพหนีทัพเมืองเชียงใหม่ถึงสองคราว และเสด็จหนีออกจากเมืองพิษณุโลกอีกหนึ่งคราว

ต่อมา พระเจ้าบรมไตรโลกนารถ ใช้ไสยาศาสตร์ ส่งพระเถระพุกาม มายังเมืองเชียงใหม่ แล้วหลอกให้ตัดต้นไม้นิโครธ ไม้แห่ง "เดชเมือง" ซึ่งชาวเชียงใหม่สักการะบูชาที่แจ่งศรีภูมิ จนบ้านเมืองปั่นป่วน
กล่าวคือ ได้เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด คือ พระเจ้าติโลกราช สั่งประหารท้าวบุญเรือง พระราชโอรสองค์เดียว ซึ่งถูกนางสนมชื่อ ท้าวหอมุก ใส่ความว่าจะชิงราชบัลลังก์ ภายหลังทราบว่าพระโอรสบริสุทธิ์ ก็ทรงเสียพระทัย อีกทั้งทรงกริ้วและหวาดระแวงว่าหมื่นด้งนคร ทหารเอก ที่ส่งให้ไปตั้งรับกองทัพอยุธยาที่ชายแดนเมืองเชลียง สุโขทัย จะแปรพักตร์ไปเข้าอยุธยา จึงเรียกตัวไปเชียงใหม่และถูกประหารชีวิต 
หมื่นด้งนคร เป็นทหารเอกสำคัญในการตั้งรับทัพอยุธยาที่ชายแดนเป็นที่ยำเกรงของทัพอยุธยา เมื่ออนิจกรรมแล้วก็ทำให้การศึกระหว่างเมืองเชียงใหม่ และ เมืองอยุธยาเปลี่ยนโฉมหน้าไป กล่าวคือ เมื่อหมื่นด้งนครถูกประหารแล้ว พระเจ้าติโลกราชโปรดให้หมื่นแคว่นผู้ครองเมืองแจ้ห่มลำปาง ไปครองเมืองสวรรคโลก ความยำเกรงต่อทัพเชียงใหม่จึงหมดไป ฝ่ายอยุธยาจึงโปรดให้พระยาสุโขทัยยกทัพเข้าตีเมืองสรรคโลก จนหมื่นแคว่นตายในที่รบ เมืองสุโขทัยจึงได้เมืองสวรรคโลกกลับคืน หลังจากเสียเมืองให้ไปอยู่ใต้การปกครองของเมืองเชียงใหม่ มายาวนาน 23 ปี อันเป็นต้นเรื่องของ " ลิลิตยวนพ่าย " เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ที่ตีเมืองเชลียง เมืองสวรรคโลก อดีตเมืองลูกหลวงของสุโขทัย กลับคืนมาได้
หลังจากนั้นกษัตริย์ทั้งสองพระองค์ก็ย่างเข้าสู่วัยชรา จึงเลิกรบและเป็นไมตรีต่อกัน พระเจ้าติโลกราช เสด็จสวรรคตใน พ.ศ.2030 พระชนมายุได้ 78 พรรษาครองราชย์ 46 ปี ส่วนพระบรมไตรโลกนารถเสด็จสวรรคตใน พ.ศ. 2031 ขณะพระชนมายุได้ 57 พรรษา ครองราชย์ 




พระเจ้าติโลกราชทรงเป็นนักรบที่พระปรีชาสามารถ แผ่ขยายอำนาจของเมืองเชียงใหม่ไปทั่วกว่า 57 หัวเมือง ด้านเหนือครอบคลุมพื้นที่ถึง มณฑลยูนาน ประเทศจีน  เมืองเชียงตุง เมืองยอง ประเทศพม่า ด้านตะวันตกถึงรัฐฉาน ประเทศพม่า ด้านตะวันออก ถึงเมืองหลวงพระบาง ประเทศลาว ด้านทิศใต้ถึงเมืองศรีสัชนาลัย เมืองลูกหลวงของอยุธยา
นอกจากนี้ทรงยังได้รับการสถานปนาจากจักรพรรดิเมืองจีน ราชวงศ์หมิง ให้เป็น "ดาวหล้านนา" หรือ พระราชาแห่งตะวันตก มีพระเกียรติยศเป็นอันดับสองรองจากาจักรพรรดิจีน ดังปรากฎหลักฐานใน "หมิงสื่อลู่" เอกสารประจำรัชกาลของราชสำนักจีน และ ตรงกัน "ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับพม่า" ความว่า "ที่ใดก็ตามที่ปรากฎศัตรูขึ้นในแปดทิศของจักรพรรดิอุทิปวาผู้ปกครองทุกสิ่งภายใต้สวรรค์ ให้ท้าวล้านนาเจ้าฟ้าแห่งเมืองเชียงใหม่ มีอำนาจที่จะปราบปรามศัตรูนั้นได้...และให้มีพระราชสมญานามว่า ราชาผู้พิชิต ราชาแห่งทิศตะวันตก"
ด้านการศาสนา ในรัชสมัยของพระองค์มีการบูรณะต่อเติมเจดีย์วัดเจดีย์หลวง กว้างและใหญ่กว่าเดิม โดยด้านละ 35 วา สูง 45 วา มีการอัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานไว้ในซุ้มพระเจดีย์ด้านทิศตะวันออก และมีการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ มีการสร้างวัดเจ็ดยอด มีการสังคยานาพระไตรปิฎก เป็นครั้งที่ 8 ของโลกและถือเป็นคัมภีร์สำคัญของล้านนามาจนถึงปัจจุบัน



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น